โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คืออะไร สาเหตุ อาการ วินิจฉัย และวิธีการรักษา
What is insomnia and wake after sleep onset? Let's deal with it? by ณพสิทธิ์ 03/07/23
ช่วงเวลาที่มนุษย์นอนหลับ จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายและสมองได้ขับของเสีย สร้างเสริมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เชื่อมโยงโครงข่ายระบบประสาท ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ปรับสมดุลในร่างกาย และอีกมากมาย แต่กระนั้นการเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยรวดเร็ว การติดนิสัยต้องทำงานตลอดเวลา การมีสิ่งเร้าที่มากเกินควร สร้างความตึงเครียด ทำให้คนเรามีเวลานอนที่ลดลง และหลายคนประสบปัญหาที่น่าหนักใจ สร้างความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ ปัญหานั้นคือ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
อาการของโรคนอนไม่หลับคือ จะเข้านอนได้ยาก นอนไม่หลับ หรือทำให้ตื่นโดยไม่ตั้งใจ ตื่นบ่อยหลับยาก หากจะเข้านอนอีกครั้งก็นอนไม่ได้ รวมถึงจะรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา ในระยะสั้นจะก่อให้เกิดความอ่อนเพลีย ขาดสมาธิในการทำงาน อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย หากอาการนี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ โดยรวมนั้นทำให้คุณภาพชีวิตและการทำงานแย่ลง
โรคนอนไม่หลับพบได้มากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี จะยิ่งพบได้มากขึ้น จะพบได้มากในช่วงที่มีความเครียด หรือวิตกกังวลมากกว่าปกติ และพบได้ในคนที่ทำงานเป็นกะ อาทิ นักบิน หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มากกว่าคนทำงานช่วงเวลาปกติ
อาการของโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
สาเหตุของการนอนไม่หลับ (Insomnia)
1. ความเครียด และความวิตกกังวล
โดยทั่วไปเมื่อคนเราเกิดอาการเครียดหรือวิตกกังวลไม่ว่าจะมาจากเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว เรื่องสุขภาพ ก็อาจก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เมื่อปัญหาได้ถูกแก้ไข หรือหมดเรื่องกังวลใจ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปและกลับมานอนหลับดีตามเดิม อย่างไรก็ตามยังมีคนบางกลุ่มที่แม้ว่าเรื่องกังวลจะหมดไปแล้ว ก็ยังคงมีอาการนอนไม่หลับอยู่ และความกังวลที่เกิดขึ้นกลับกลายมาเป็นความกังวลว่าจะนอนไม่หลับแทน
2. การเปลี่ยนแปลงตารางการทำงานหรือเดินทางไกลที่เปลี่ยนแปลงวงจรเวลาชีวิต
ในร่างกายของมนุษย์จะมีวงจรที่เป็นจังหวะตามธรรมชาติเรียกว่า Circadian Rhythms ที่จะเป็นสิ่งที่ควบคุมวงจรการหลับตื่น วงจรการปล่อยและหยุดปล่อยฮอร์โมน รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงเวลาที่เราใช้ชีวิตอย่างฉับพลัน เช่นการเปลี่ยนแปลงโซนเวลาจากการเดินทาง หรือการทำงานเป็นกะที่บางวันทำงานตอนกลางคืน บางวันทำงานตอนกลางวัน อาจทำให้วงจร Circadian Rhythms นี้ปั่นป่วนและส่งผลให้เวลาที่ร่างกายสั่งให้เราง่วงมาไม่ตรงกับเวลาที่เราตั้งใจจะนอน ทำให้นอนไม่หลับได้
3. นิสัยการนอนที่ไม่ดี
การมีนิสัยการนอนที่ไม่ดีอาจส่งผลให้การนอนหลับยาก อาทิ การงีบหลับเวลากลางวัน การนอนไม่เป็นเวลา การเสพสิ่งเร้า หรือกิจกรรมที่มีความตื่นเต้นทำให้ร่างกายตื่นตัวก่อนนอน การมีสิ่งแวดล้อมการนอนหลับที่ไม่ดี เช่น รอบข้างมีเสียงดัง มีแสงสว่างจ้า การทำงานบนเตียงนอน การเล่นเกมส์ที่ตื่นเต้น การดูทีวี การเล่นโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ ที่ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว โดยเฉพาะหากการทำสิ่งเหล่านี้เลยเวลาที่เป็นจุดที่ความง่วงสูงสุดของวงจรการหลับตื่นแล้ว จะส่งผลให้การนอนหลับทำได้ยากขึ้น
4. กินอาหารมากช่วงเวลาดึก
การทานขนมขบเคี้ยวเล็กน้อยนั้นไม่ส่งเสีย แต่หากเป็นการทานอาหารที่หนักและมากเกินไป เช่น ทานบุฟเฟ่ต์ช่วงเวลาก่อนนอนจะส่งผลเสียให้ร่างกายเกิดความไม่สบายตัวเวลานอน ในบางบุคคลเกิดอาหารหัวใจเต้นเร็ว และกรดไหลย้อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้นอนไม่หลับ
สาเหตุ อื่นๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับ หรือเกิดภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia)
1. โรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น โรควิตกกังวล โรคเครียด
2. การใช้ยาบางประเภท
3. โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคนอนไม่หลับ อาทิ โรคปวดเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นเต้น
4. ปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของการนอน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคขาอยู่ไม่สุข
5. คาเฟอีน นิโคติน และ แอลกอฮอล์ โดยคาเฟอีนในกาแฟ ชา โคล่า และน้ำที่ผสมคาเฟอีนอื่นๆ เป็นตัวกระตุ้นให้ไม่ง่วง การดื่มในช่วงเย็นหรือค่ำอาจทำให้นอนหลับได้ยาก รวมถึงสารนิโคตินในบุหรี่ที่มีฤทธิ์ขัดขวางการนอนหลับ แอลกอฮอล์อาจทำให้คุณนอนหลับได้ง่าย แต่เป็นตัวที่ขัดขวางการหลับลึก และมักจะทำให้ตื่นระหว่างคืน
การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับจะเป็นการวินิจฉัยเพื่อสาเหตุของภาวะนอนไม่หลับ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องจะมีกระบวนการดังต่อไปนี้
การตรวจร่างกาย
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นๆ นั้นจะต้องพยายามตัดปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดภาวะนอนไม่หลับออกไปก่อน อาทิเช่น การใช้ยาบางชนิดทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ หรือการเป็นโรคบางบางชนิด ในการตรวจนี้อาจจะมีการขอให้ผู้ป่วยตรวจเลือด หรือตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้การนอนหลับแย่ลง
การประเมินนิสัยการนอน
แพทย์จะสอบถามและให้ทำแบบประเมินที่เกี่ยวข้องกับ Sleep Habit หรือนิสัยการนอนของตัวผู้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ดูวงจรการตื่น-หลับ ระดับความง่วงระหว่าววัน และอาจจะมีการจด Sleep Diary หรือ Sleep Log เพื่อบันทึกพฤติกรรมการนอนหลับ
การตรวจการนอนหลับ (Sleep Study)
หากปัญหาของภาวะนอนไม่หลับนั้นไม่ชัดเจน แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจการนอนหลับแบบละเอียด หรือ Type2 ขึ้นไป เพื่อดูว่าผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น โรคขาอยู่ไม่สุข (Restlss Legs Syndrome) หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
การตรวจการนอนหลับนี้เป็นการศึกษาพฤติกรรม และภาวะความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ อาทิ ความผิดปกติของสัญญาณสมอง การขยับตัว ท่าทางการนอน การหยุดหายใจขณะหลับ การมีภาวะแขนขากระตุกขณะหลับ เป็นต้น
การรักษาผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
หลังจากได้รับการวินิจฉัย หากผู้ป่วยมีภาวะนอนไม่หลับจากสาเหตุอื่นๆ แก้ที่มูลเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้ หากเป็นภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวที่เกิดจากเหตุนั้นๆ ภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวก็จะหายไปเองในเวลาไม่นาน เช่น เกิดความเจ็บป่วยทำให้สะดุ้งตื่นระหว่างคืนมาก หลังจากอาการเจ็บป่วยนั้นหายไปภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวนั้นก็มักจะหายไปด้วย แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึงหากผู้ป่วยนั้นมีโรคนอนไม่หลับที่เป็นสาเหตุปฐมภูมิ (Primary) วิธีการรักษาจะมีดังนี้
Cognitive Behavior Therapy for Insomnia (CBT-I)
การเข้ากระบวนการ CBT หรือ กิจกรรมบำบัดสำหรับการรักษาโรคนอนไม่หลับจะช่วยลดความคิดแง่ลบและปรับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เป็นการรักษาแรกที่แนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ในปัจจุบัน (2023) เป็นที่เชื่อได้ว่า CBT-I หรือการทำกิจกรรมบำบัดสำหรับโรคนอนไม่หลับ นั้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าการรักษาด้วยยานอนหลับ
การทำ CBT-I จะช่วยพัฒนานิสัยที่ส่งเสริมให้การนอนหลับดี และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อการนอนหลับ โดยจะมีเทคนิคต่างๆ ดังนี้
- Stimulus control therapy หรือ การควบคุมสิ่งเร้า : เป็นกระบวนการปลดพันธนาการของจิตใจที่ต่อต้านการนอนหลับ
- Relaxation techniques หรือ เทคนิคการผ่อนคลาย : การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่ายกาย การฝึกการหายใจเพื่อลดความวิตกกังวล การฝึกระบบสัญญาณร่างกายย้อนกลับ หรือ biofeedback
- การควบคุมการนอน : เป็นการฝึกลดเวลาบนเตียง งดงีบหลับระหว่างวัน สะสมพลังความง่วง เพื่อให้การนอนครั้งต่อไปมีพลังมากขึ้น
- การพยายามตื่นแทนการกลับ : เป็นการฝึกแบบย้อนกลับ แทนที่จะพยายามนอน จะเป็นพยายามตื่น ลดความกังวลว่าจะนอนไม่หลับ
- การบำบัดด้วยแสง : แสงเป็นตัวกระตุ้นวงจรชีวิตและการนอนหลับของมนุษย์ การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้เวลา Biological Clock ในร่างกายสามารถทำงานได้ตามเวลา และรู้สึกง่วงมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่กำหนด
- กลยุทธ อื่นๆ เพื่อสร้างให้เกิดนิสัยและความเคยชิดเพื่อให้ผู้ที่มีโรคนอนไม่หลับสามารถลดความง่วงระหว่างวันและนอนหลับได้ดีขึ้น
การใช้ยาเพื่อการนอนหลับ
ยานอนหลับ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้โดยใช้กลไกที่ทำให้เกิดความง่วงในร่างกาย โดยทั่วไป แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยานอนหลับนานหลายสัปดาห์ (โดยทั่วไปไม่เกิน 1 เดือน) ยกเว้นสำหรับการรักษาบางชนิด
ยานอนหลับบางชนิดนั้นมีผลข้างเคียง เช่น บางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น บางชนิดลดระยะเวลาการหลับฝัน ดังนั้นการใช้งานนอนหลับแต่ละครั้งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทางเลือกอื่นเพื่อบำบัดโรคนอนหลับ (Insomnia)
Melatonin
เป็นอาหารเสริมที่ช่วยให้นอนหลับ โดยทั่วไปมีความปลอดภัยสำหรับการใช้งานระยะสั้น เช่น หลายสัปดาห์ แต่สำหรับความปลอดภัยจากการใช้ในระยะยาวนั้นยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด
Melatonin ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่เชื่อถือ (2023) ได้ว่าสามารถรักษาโรคนอนไม่หลับได้ หากผู้ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับแนะนำให้พบแพทย์หาแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี
การฝังเข็ม
เชื่อว่าการฝังเข็มมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคนอนไม่หลับ หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรักษาโรคนอนไม่หลับแบบปกติและเข้ารับการฝังเข็มไปด้วย ข้าพเจ้าแนะนำว่าให้เลือกแพทย์ฝังเข็มที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรอง และสามารถรักษาอย่างถูกวิธี
โยคะ
เชื่อว่าการเล่นโยคะ หรือการยืดเหยียดแบบโยคะสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้
การทำสมาธิ
เชื่อว่าการทำสมาธิก่อนนอนจะช่วยให้สามารถเข้าถึงระดับการหลับลึกได้เร็วขึ้น ลดความเครียด และเพิ่มคุณภาพการนอนหลับของคืนนั้นๆ อย่างน่าทึ่ง
สมุนไพรทางเลือกอื่นๆ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนไม่หลับ และอาจจะมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย ก่อนที่จะเลือกรับประทานสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เนื่องจากในอาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิดอาจจะมีสารที่อันตราย หรือส่วนผสมที่อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพได้
ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ
1. คนปกติใช้เวลาเท่าไรถึงจะนอนหลับ
ตอบ: คนปกติเมื่อนอนลงบนเตียงแล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีในการนอนหลับ ตั้งแต่ที่เราหลับตาเพื่อนอนจนเข้าจนสมองเข้าสู่สภาวะหลับตื้น (Sleep Stage NREM 1) เราจะเรียกระยะเวลาตั้งแต่เริ่มนอนจนถึงนอนหลับว่า Sleep Latency หรือระยะหน่วงการนอนหลับ หากคุณใช้เวลานานกว่านี้เช่น 60 นาที หรือ สองชั่วโมงเพื่อให้คุณนอนหลับ สามารถสงสัยได้ว่าคุณอาจมีภาวะนอนไม่หลับแล้ว
2. หากใช้เวลาตั้งแต่ล้มตัวลงนอนจนถึงนอนหลับประมาณ 2-3 ชั่วโมงถือว่าปกติหรือไม่
ตอบ: ไม่ปกติครับ คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนอนไม่หลับแล้วครับ โดยอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ในระยะเวลาที่ไม่เกิน 3 เดือน จะเรียกว่า Short-term insomnia disorder หรือโรคนอนไม่หลับระยะสั้น แต่หากคุณนอนไม่หลับต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 3 เดือนเราจะเรียกว่า Chronic insomnia disorder หรือโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง รวมถึงยังมีโรคนอนไม่หลับอื่นๆ
ดังนั้นหากคุณพบว่า คุณหรือคนรอบตัวของคุณมีอาการนอนไม่หลับและเกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับสัปดาห์แนะนำให้สงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งคุณอาจจะพยายามแก้ไขด้วยตนเองโดยที่สำคัณคุณต้องบอกตนเองว่านี้คือปัญหาที่ต้องการการแก้ไข แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีเพราะโรคนอนไม่หลับสามารถรักษาได้
3. โรคนอนไม่หลับอันตรายหรือไม่
ตอบ: โรคนอนไม่หลับและโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนมีอันตราย และมีผลกระทบต่อชีวิตมากทั้งทำให้อ่อนเพลีย ไม่สามารถมีสมาธิได้ดี วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย จนถึงประสาทสัมผัสและการตอบโต้ช้า โดยพบว่าการที่มีภาวะนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยากอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ
4. ปกตินอนตอน 5 ทุ่มและตื่นตอนเวลา 7 โมงเช้า แต่ปัจจุบันตื่นเวลา ตี 4-5 โดยไม่ตั้งใจ และแม้ว่าจะพยายามนอนต่อแต่ก็ไม่สามารถทำได้ อันนี้คือโรคนอนไม่หลับหรือไม่ รักษาได้อย่างไร
ตอบ: มีความเป็นได้โดยอาจจะเป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่เป็นก็ได้ เหตุการณ์นี้เรียกว่า Early morning awakenings หรือการตื่นเช้ากว่าที่ตั้งใจ ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของวงจร Circadia Rhythms หรือ อาจจะเกิดจากปัญหาอื่น เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ , การรบกวนจากสิ่งแวดล้อม วิธีการที่ควรทำคือ ควรตรวจการนอนหลับเพื่อหาสาเหตุจากนั้นแก้ไขต้นเหตุของปัญหา
5. อายุน้อย เป็นนักเรียน นักศึกษาสามารถเป็นโรคนอนไม่หลับได้หรือไม่
ตอบ: ประชากรที่อายุน้อยเป็นโรคนอนไม่หลับได้เช่นกัน แม้ว่าโรคนอนไม่หลับจะพบมากขึ้นในประชากรที่สูงอายุ แต่ปัจจุบันเราก็พบว่ามีนักเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยากต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงถึงจะสามารถนอนหลับได้ หรือนอนหลับและตื่นกลางดึกบ่อยๆ ซึ่งหากท่านหรือคนในครอบครัวของท่านมีอาการดังกล่าวโดยเฉพาะหากยังอยู่ในช่วงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น ควรรีบรักษาเพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพัฒนาทั้งระบบฮอร์โมนและระบบประสาทให้เกิดการเจริญเติบโตให้สมวัย
6. ตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือ ตื่นเช้ากว่าที่ตั้งใจไว้แล้วนอนต่อไม่ได้ เป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่
ตอบ: เราต้องแยกสองอาการนี้ออกจากกันประกอบด้วย อาการตื่นกลางดึกบ่อยๆ นี้อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ แบ่งเป็นปัญหาทางกายภาพและ ทางจิตเวช ทางกายภาพประกอบด้วยปัญหาเช่น อาการปวด การหยุดหายใจขณะหลับ ระบบย่อยอาหาร ระบบฮอร์โมน ระบบประสาทเช่นแขน ขา กระตุก หรือ ระบบขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นอาการไป สาเหตุทางจิตเวชที่อาจทำให้เกิดการตื่นบ่อยยกตัวอย่างเช่น อาการเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาการทางจิตเวชอื่นๆ ซึ่งอาจจะต้องวิเคราะห์ว่าอาการที่ตื่นบ่อยเกิดจากสาเหตุอะไร บางทีอาจจะไม่ใช่โรคนอนไม่หลับโดยตรงก็เป็นได้
ตื่นเช้ากว่าที่ตั้งใจไว้แล้วนอนต่อไม่ได้ เกี่ยวข้องกับอาการที่เรียกว่า Sleep maintenance insomnia ซึ่งเป็นอาการที่ตื่นเร็วกว่าที่ตั้งใจใว้และไม่สามารถนอนหลับต่อได้ เช่นตั้งใจว่าจะตื่น 7 โมงเช้า แต่ตื่นขึ้นมาก่อนตอนตี 5 ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตามและไม่สามารถนอนหลับต่อไป
สรุป โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นภาวะในระยะสั้นที่จะหายไปเมื่อเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะนอนไม่หลับจบไป เช่น ความเครียด หรือเสียงรบกวน แต่หากปัญหานี้เกิดขึ้นเรื้อรัง และเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจบไปแล้ว นี้อาจทำให้สงสัยได้ว่า ท่านอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีก่อนที่ปัญหานอนไม่หลับจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาทั้งต่อสุขภาพ ชีวิตและการทำงาน
ปรึกษาปัญหาโรคนอนไม่หลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา
Reference
- ร.ศ. นพ. สนทรรษ บุษราทิจ, การนอนไม่หลับ
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/insomnia/symptoms-causes/syc-20355167
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/insomnia/diagnosis-treatment/drc-20355173
- https://www.webmd.com/sleep-disorders/stay-asleep Brewster, Glenna S et al. “Insomnia in the Older Adult.” Sleep medicine clinics vol. 13,1 (2018): 13-19. doi:10.1016/j.jsmc.2017.09.002